เมืองสมุนไพร หัวใจผลไม้ ปราจีนบุรี


เรื่อง / ภาพ : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ภาพตึกสไตล์ยุโรปยุคบาโรก ในกรอบเส้นวงกลม เป็นตราผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่คนไทยรู้จักมากที่สุดเจ้าหนึ่งในเวลานี้  ทำให้ตึกเก่าแก่กลับมามีชีวิตชีวา เป็นที่รู้จัก  ปราจีนบุรีมีจุดท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต สุขภาพเพิ่มขึ้นอีกแห่ง  และตราอภัยภูเบศรจากหัวเมืองทางตะวันออกแห่งนี้ ยังบูมมาอย่างต่อเนื่องมานับแต่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอภัยภูเบศรกำเนิดขึ้นเมื่อราว 20 ปีก่อน

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตึกโบราณที่ยังมีชีวิตชีวาอยู่ในปัจจุบัน

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่กลายมาเป็นตราผลิตภัณฑ์สมุนไพรของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นต้นสายของแม่น้ำบางปะกง  ห่างตัวเมืองปราจีนบุรีขึ้นไปทางต้นน้ำราว 2 กิโลเมตร

ปัจจุบันอยู่ภายในรั้วโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  โดยตึกโบราณหลังนี้ถือเป็นอาคารหลังแรกของโรงพยาบาล แม้ว่าเจตนาของผู้สร้างไม่ใช่เพื่อเป็นสถานพยาบาล หากเพื่อการรับเสด็จเจ้านายชั้นสูง

เล่นโขนหน้ารูปปั้นเจ้าพระยาอภัยฯ

ในงานวันรำลึกประวัติศาสตร์อภัยภูเบศร

ตึกหันหน้าไปทางตะวันออก ซึ่งไกลออกไปทางทิศนั้นอีกราว 350 กิโลเมตร มีตึกรูปร่างหน้าตาอย่างเดียวกันนี้อีกหลังตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา ซึ่งสร้างโดยเจ้าของคนเดียวกันผู้มีนามว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ในเวลานั้นเป็นหัวเมืองในปกครองของสยาม

หลวงพ่ออภัย พระพุทธรูปปางอภัยทานในโบสถ์วัดแก้วพิจิตร

สร้างโดยเจ้าพระยอภัยภูเบศร

หนึ่งในงานศิลปะผสมผสานหลากหลายเชื้อชาติที่วัดแก้วพิจิตร

เจ้าเมืองพระตะบองสร้างจวน หรือคฤหาสน์หลังใหญ่โดยว่าจ้างช่างชาวอิตาลีมาออกแบบก่อสร้าง  แต่ไม่ทันได้เข้าอยู่ สยามต้องเสียดินแดนมณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศสในปี 2447 เจ้าพระยาอภัยภูเบศรอพยพครอบครัวมาอยู่ปราจีนบุรี สร้างตึกหลังใหม่ในแบบเดิมริมแม่น้ำ เมื่อ พ.ศ. 2452  แต่เจ้าของตึกไม่เคยเข้าพำนักอาศัย นอกจากใช้เป็นที่รับเสด็จเจ้านายชั้นสูงจากกรุงเทพฯ และท้ายสุดเป็นที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลเมื่อเจ้าของตึกหาชีวิตไม่แล้ว

แม่น้ำปราจีนบุรียามพลบ หน้าตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

อาคารสไตล์ยุโรปยุคบาโรกริมแม่น้ำปราจีนบุรีตกทอดมาสู่ทายาท และท้ายสุดได้ใช้เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดปราจีนบุรีมาตั้ง พ.ศ. 2484  เมื่อมีการสร้างอาคารหลังอื่นๆ

ภายในพิพิธภัณฑ์มีบริการตรวจโรคและจ่ายยาโดยแพทย์แผนไทย

ต่อมา ตึกทรงยุโรปโบราณก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร

โรงงานผลิตยาสมุนไพรอภัยภูเบศร

ต่อมาเมื่อมีการศึกษาวิจัยและผลิตยาสมุนไพรออกเผยแพร่ ก็ใช้ภาพตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นตราสัญลักษณ์ ซึ่งแพร่หลายได้รับความนิยมจากผู้ใช้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง

การผลิตยาสมุนไพรแบบแคปซูล

ผ่านการควบคุมมาตรฐานตั้งแต่การวิจัยจนถึงการบรรจุ

ในแง่การผลิตมีเครือข่ายกว้างไกลและครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูกวัตถุดิบ การจัดเก็บ แปรรูป กระทั่งนำมาผลิตเป็นยาภายในโรงงานของมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของโรงพยาบาล

หมู่บ้านปลูกยาสมุนไพรในอำเภอเมือง

ไม่ไกลจากโรงพยาบาล

สวนสมุนไพรที่บ้านดงบัง

ชุมชนปลูกพืชสมุนไพรแหล่งใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองปราจีนบุรีคือ หมู่บ้านดงบัง ห่างโรงพยาบาลไปทางตะวันออกราว 15 กิโลเมตร

ล้าง หั่น ตาก ก่อนส่งผลิตยา

บนพื้นที่นับ 100 ไร่ ของกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ เป็นหมู่ไม้ 3 ระดับ  บนสุดเป็นไม้ใหญ่ใช้สอยพวกยางนา  ถัดมาระดับกลางเป็นพืชสวนครัว  และพื้นล่างเป็นไม้ล้มลุก  ในพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งปลูกพืชยาสมุนไพรกว่า 10 ชนิด อาทิ ฟ้าทะลายโจร หญ้าปักกิ่ง หญ้าหนวดแมว รางจืด อัญชัน เพชรสังฆาต ใบชะพลู เสลดพังพอน ชุมเห็ดเทศ ว่านกาบหอย เป็นต้น

และปัจจุบันในชุมชนแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาเที่ยวและศึกษาดูงานด้านเกษตรสุมนไพร  ซึ่งมีให้เรียนรู้ตั้งแต่แปลงปลูก การเก็บเกี่ยว ล้าง หั่น ซอย ตากแห้งในตู้อบ จัดเก็บ รอส่งผลิตยา และมีสมุนไพรบางส่วนที่วางขายให้ซื้อกลับไปใช้ที่บ้าน

ร้านยาสมุนในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เลือกซื้อ

แต่ที่เป็นยาสำเร็จรูป ชมและเลือกซื้อได้ในร้านอภัยภูเบศรที่โรงพยาบาล ซึ่งยังสามารถศึกษาหาความรู้เรื่องการแพทย์แผนไทยในพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ด้วย

ทั้งหมดนี้ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้เป็นกำลังหลักที่ผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์สุมนไพรอภัยภูเบศร บอกว่าเป็นการสร้าง “เอกราชทางยา”

“เราซื้อยาแผนใหม่จากต่างประเทศอยู่ปีละ 7 หมื่นกว่าล้านบาท  ตอนนี้ยาสมุนไพรที่ประเทศเราผลิตได้มีสัดส่วนแค่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ เราอยากให้ตัวเลขมันขยับขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยก็ให้ได้สักหมื่นล้านบาท”

งานเทศกาลสมุนไพรไทย ที่อภัยภูเบศร

ใครได้มาเห็นความเติบโตก้าวหน้าด้านนี้ที่เมืองสมุนไพร ปราจีนบุรี จะรู้ว่าความหวังนั้นอยู่ไม่ไกลเกินความเป็นไปได้

นอกจากในแง่ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สุขภาพ สมุนไพร  ในช่วงหลังมานี้ปราจีนบุรียังขึ้นชื่อเรื่องผลไม้ด้วย

ภาพ ททท.ภูมิภาคตะวันออก

อาจเนื่องมาจากพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ต่างจังหวัดอื่นของภาคตะวันออก เมืองในที่ราบริมเขาใหญ่ ห่างขึ้นมาจากชายฝั่ง  ปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าถิ่นอื่นในภาคตะวันออก ทำให้ผลไม้ได้รสเข้ม เนื้อสวย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ไม่ว่ามังคุด มะยงชิด โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นที่ติดใจของคนที่เคยได้ลิ้มลอง ทุเรียนปราจีนจึงราคาสูงกว่าแหล่งอื่นทั่วไป

เจ้าของสวนจิตร์นิยม สวนทุเรียนออแกนิคและผลไม้อื่นๆ บนพื้นที่กว่า 520 ไร่ ในอำเภอศรีมหาโพธิ บอกว่าปราจีนบุรีเป็นพื้นที่พิเศษซึ่งเป็นการบรรจบกันอย่างลงตัวของสภาพภูมิศาสตร์  “ดินร่วนปนทราย ได้รับปุ๋ยธรรมชาติจากเขาใหญ่  ใต้พื้นดินลงไปสักเมตรเป็นชั้นศิลาแลง มีแร่ธาตุที่ทำให้ผลไม้มีรสดี”

ความชื้นในอากาศก็น้อยกว่าพื้นที่แถบใกล้ชายฝั่ง

ปัจจัยทั้งหลายนี้ทำให้  “ทุเรียนหมอนทองของที่นี่เนื้อแห้งและรสเข้มข้นกว่าที่อื่น ถ้าราคาทุเรียนในตลาดทั่วไปกิโลละ 150 บาท หมอนทองปราจีนจะได้ราคากิโลละ 200 บาท”  เกรียงศักดิ์ อุดมสิน ทายาทรุ่นที่ 3 ของสวนจิตร์นิยม พูดถึงทุเรียนในท้องถิ่นบ้านเกิด

และพูดถึงไฮไลท์ในสวนของตนซึ่งอยู่ที่ทุเรียนพื้นบ้านอายุราว 120 ปี ที่ชื่อพันธุ์ กบชายน้ำ ปู่ของเขาเอาเมล็ดพันธุ์มาจากเมืองนนท์  เมื่อมาปลูกบนผืนดินเมืองปราจีนบุรี ก็ให้ผลผลิตที่มีลักษณะพิเศษต่างไปจากต้นแม่ ตอนนี้มีอยู่ 20 ต้น

“ลูกกลมเสมอกันทั้ง 5 พู ก้นบุ๋มเป็นหลุมไม่มีหนาม ตั้งพื้นได้ เปลือกไม่เน่า ไม่มีไส้ซึม เนื้อเนียน ละเอียด สุกงอมเนื้อก็ไม่เขียว และกลิ่นไม่ฉุน แต่หอมอ่อนๆ เหมือนดอกไม้ป่า ได้กลิ่นทุเรียนตอนกิน”

ทำให้เขาตั้งราคาทุเรียนพันธุ์กบชายน้ำได้ถึงลูกละ 1.1 หมื่นบาท เมื่อหน้าทุเรียนปี 2561  ซึ่งในสวนจิตร์นิยมมีกบชายน้ำอยู่ 20 ต้น ให้ผลผลิตต้นละ 200-300 ลูกต่อปี ไม่พอขาย โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีน

ขณะที่คนไทยนิยมหมอนทอง จนบางทีมีการอ้างชื่อทุเรียนปราจีนบุรีสวมทับทุเรียนทั่วไปเพื่อหวังผลด้านการขาย จนเป็นที่สับสนของคนกิน ถ้าจะให้แน่ต้องมาให้ถึงสวน แล้วจะรู้ว่าอร่อยแบบทุเรียนปราจีนเป็นอย่างไร

ภาพเขียนบนกำแพง “บ้านเล่าเรื่อง” บอกเรื่องราวของเมืองปราจีนได้ครบถ้วน

นอกจากได้ความอร่อย สดใหม่ เข้าถึงหัวใจของผลไม้ท้องถิ่น  การได้มาปราจีนบุรียังมีเรื่องน่าตื่นเต้นในแง่การได้สัมผัสสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวในเมืองไทย  ไม่ว่าจะเป็นตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  แหล่งปลูกพืชสมุนไพรและผลิตยาสมุนไพร  ซึ่งท่องเที่ยวได้ครบวงจรในวันเดียวที่เดียวในเมืองไทย ที่แดนบูรพา ปราจีนบุรีเท่านั้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ททท. สำนักงานนครนายก (ดูแลพื้นที่นครนายก-ปราจีนบุรี-สระแก้ว) โทร. 0-3731-2282, 0-3731-2284

Hits: 2291