เทศกาลดูเหยี่ยวดำ และนกอพยพ @ดงเหยี่ยวดำทุ่งใหญ่ปากพลี

พฤศจิกายน – มีนาคม  ณ  ทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ หมู่ 6  ต.ท่าเรือ  อ.ปากพลี  จ.นครนายก  ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อม  ตัวอย่างแห่งการโยกย้ายของสัตว์ “ฝูงเหยี่ยวดำนับหมื่น… มาเยือนนครนายก”

“เหยี่ยวดำ”  นกล่าเหยื่อที่อพยพหนีหนาวมาจากไซบีเรีย  มาพักอาศัย  หาอาหาร  ขยายเผ่าพันธุ์  ณ  ทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์  หมู่ 6  ตำบลท่าเรือ  อำเภอปากพลี  จังหวัดนครนายก  ในพื้นที่กว่า 1,500 ไร่  ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติสวนสาธารณะ   เหยี่ยวดำเหล่านี้ได้อพยพมาหากินที่นี่เมื่อปี 2552  ช่วงเวลาต้นฤดูหนาวประมาณเดือนตุลาคม  โดยจากการสังเกตและประมาณการจำนวนของเหยี่ยวดำ พบว่ามีการอพยพเพิ่มมากขึ้นทุกๆ  ปี  สำหรับปีนี้ก็น่าจะประมาณ 60,000 ตัว

ด้วยสภาพแวดล้อมพื้นที่ป่าบริเวณสวนสาธารณะบ้านโคกสำโรง  ตำบลท่าเรือ  อำเภอปากพลี  จังหวัดนครนายก  มีความอุดมสมบูรณ์  จากพื้นที่ทุ่งนาหลายหมื่นไร่ที่ผลิตข้าวและเกษตรกรรมอื่นๆ รวมถึงยังมีพื้นที่ติดกับปราจีนบุรี ซึ่งบริเวณรอยต่อที่มีทุ่งนากว้างใหญ่เป็นแหล่งอาหาร  เช่น  หนู  งู  สัตว์ต่างๆ  ที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับเหยี่ยว  ในระยะเวลา  3 ปีที่ผ่านมา  เหยี่ยวดำเลือกหนีหนาวมาอาศัยทุ่งนาแห่งนี้เพิ่มขึ้นทุกปี

และอีกสาเหตุหนึ่งที่สันนิษฐานว่า  เหยี่ยวดำอพยพหนีหนาวมาประเทศไทย   เนื่องด้วยช่วงเดือนกันยายนภูมิอากาศทางตอนเหนือของโลก แถบประเทศรัสเซีย มองโกเลีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เริ่มมีหิมะและหนาวเย็น  นกล่าเหยื่อทั้งหลาย ที่อาศัยอยู่แถบซีกโลกตอนเหนือ เริ่มขาดแคลนอาหาร นกเหล่านี้จึงต้องเดินทางลงมาทางซีกโลกใต้ ซึ่งมีอากาศอบอุ่น อาหารอุดมสมบูรณ์กว่า   และนกล่าเหยื่อเหล่านี้ จะบินอพยพกลับเพื่อไปทำรังวางไข่อีกครั้งในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ของปีถัดไป

ลมอุ่นใต้ปีกของ…เหยี่ยวอพยพ   มวลอากาศร้อนกับกระแสลม ลมอุ่นใต้ปีก มีความจำเป็นต่อการบินอพยพของนกล่าเหยื่อ ที่ต้องเดินทางย้ายถิ่นฐานระยะไกลนั้น จะมีช่วงเวลาอพยพที่แตกต่างกัน

 

เหยี่ยวดำ (อังกฤษ: Black kite, Pariah kite ; ชื่อวิทยาศาสตร์: Milvus migrans) เป็นเหยี่ยวชนิดหนึ่งจัดเป็นนกขนาดกลาง ขนาดลำตัวยาวประมาณ 60-66 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกันคือ ลำตัวสีน้ำตาลเข้มอมเหลืองทั้งด้านบนและด้านล่าง ปีกสีน้ำตาลเข้ม หางเป็นแฉกตื้น ๆ มองดูคล้ายง่าม ปากสั้นสีดำแหลมคม ปลายปากเป็นขอ หัวค่อนข้างใหญ่ คอสั้น ปีกยาว ส่วนนกที่ยังไม่โตเต็มที่ ลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน พร้อมกับมีขีดสีเหลืองอ่อนทั่วทั้งตัว  พบกระจายพันธุ์อยู่กว้างขวางในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ยูเรเชีย, ออสตราเลเชีย และโอเชียเนีย จึงทำให้มีชนิดย่อยหลากหลายถึง 5 ชนิด และเป็นนกอพยพในหลายพื้นที่ในช่วงฤดูหนาว ในประเทศไทยพบได้ในป่าทางภาคเหนือ, ภาคกลางและภาคใต้   มีพฤติกรรมหากินในเวลากลางวัน ชอบบินอยู่ตามที่โล่งชายป่า ตามริมฝั่งทะเล หรือตามแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เพื่อหาอาหาร เมื่อจับเหยื่อได้ก็มักกินบนพื้นดิน หรืออาจนำไปกินบนต้นไม้ พบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่หรือเป็นฝูง   เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ เหยี่ยวดำจะทำรังรวมกันเป็นกลุ่มบนต้นไม้สูง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันสร้างรังด้วยกิ่งไม้เล็ก ๆ นำมาขัดสานกัน จากนั้นทั้งคู่จะช่วยกันกกไข่และเลี้ยงลูกอ่อน นกจะใช้เวลากกไข่นานประมาณ 29-32 วัน ออกไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ปกติ 3 ฟอง  และยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 อีกด้วย

ด้วยพื้นที่ที่พบเหยี่ยวดำเป็นสถานที่สวนสาธารณะ  ในปัจจุบันมีการบริหารจัดการดูแลโดยองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ  และกลุ่มชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการดูแลพื้นที่   พร้อมเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่ผืนป่าชุมชน  และกิจกรรมด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานกับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศสำหรับนักท่องเที่ยวหัวใจสีเขียว

ททท.สำนักงานนครนายก  ได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางกิจกรรมดูนก “เหยี่ยวดำ”  ซึ่งเป็นเส้นทางที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีใจรักในกิจกรรมดูนกศึกษาธรรมชาติ  และเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับระบบนิเวศพื้นถิ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  สำหรับกิจกรรมดูนก  “เหยี่ยวดำ”  ตำบลท่าเรือ  รวมทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้  ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนวัดฝั่งคลอง,  พิพิธฑภัณฑ์วัดโพธิ์,  วัดลำบัวลอย,  ศูนย์เกษตรอินทรีย์อาชีพแบบพอเพียง  ชิมผลไม้เศรษฐกิจชนิดใหม่ของจังหวัดนครนายก  “มะเดื่อฝรั่ง”  มีคุณค่าทางโภชนาการหลายประการ  หวานหอมมาที่นี่แล้วต้องลองชิม,  เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลท่าเรือ ฯลฯ

แลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ  และเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร  ธรรมชาติ  และวัฒนธรรม  ททท.สำนักงานนครนายก  จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวหัวใจสีเขียวร่วมออกเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาล “ดูเหยี่ยวอพยพ  @ดงเหยี่ยวดำทุ่งใหญ่ปากพลี”  ณ  ทุ่งใหญ่สาธารธณประโยชน์  ทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์ หมู่ 6  ต.ท่าเรือ  อ.ปากพลี  จ.นครนายก  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – มีนาคม  จัดวันว่างเดินทางท่องเที่ยวดูนกชายทุ่ง     พักผ่อนเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นถิ่น ใช้เวลาสัก 2 วัน 1 คืน ดูนกช่วงเย็นวันแรก   และร่วมลุ้นกับฝูงเหยี่ยวยามเช้าที่ออกมาอวดกางปีกอบอุ่นร่างกายพร้อมที่จะขยับขับความเมื่อยล้าก่อนจะออกโผบินสู่ท้องฟ้าออกหาอาหารไกลกว่า  30  กิโลเมตรของแต่วัน

นักท่องเที่ยวท่านใดสนใจสามารถสอบถามข้อมูลด้านการท่องเที่ยว  เส้นทางการเดินทาง  รวมทั้งตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยวได้ที่  ททท.สำนักงานนครนายก  โทร.      0-3731-2282,  037-312-284  เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ   ตั้งแต่เวลา  08.30–16.30 น.  หรือดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมที่

www.tat8.com

www.facebook.com/tatnayokfans

www.twitter.com/tatnayok

ติดต่อสอบถามกิจกรรมดูเหยี่ยวอพยพ @ดงเหยี่ยวดำทุ่งใหญ่ปากพลี  ที่  ศูนย์เกษตรอินทรีย์อาชีพแบบพอเพียง 

  • นายสิทธิชัย อิ่มจิตร  โทร.08-9752-6673, 08-9401-2982
  • นายอรรคพล กวีกิจบัณฑิต โทร.08-6219-8070

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและขอรับตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยวแนะนำ  ได้ที่ 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครนายก  โทร. 0-3731-2282, 0-3731-2284  เปิดบริการทุกวัน  ตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น.  หรือดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.tat8.com

-(“(?:^|; )”-(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\\/

Hits: 4690